20_วัตถุดิบในเครื่องสำอาง...ที่น่ารู้

เขียนโดย: admin2 หมวดหมู่บทความ: ROOT เขียนเมื่อ: 2021-07-23 อ่านแล้ว: 661 ความคิดเห็น: 0

รวมวัตถุดิบเครื่องสำอาง...ที่คุณควรรู้

ต้องรู้ว่าผู้ผลิตเครื่องสำอางนั้น ได้รับการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) หรือไม่ โดยทั่วไปแล้ว ผู้ผลิตจะต้อง list
ส่วนประกอบที่ใช้ทั้งหมด โดยไล่เรียงตามปริมาณที่ใช้จากมากไปหาน้อย แต่ไม่ต้องแสดงผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น เพราะเหตุนี้นี่เอง
เราจึงจำเป็นที่จะต้องรู้ว่า เครื่องสำอางที่เราใช้ๆกันอยู่ มีส่วนประกอบของสารที่อาจเป็นอันตรายต่อเราหรือไม่ เพื่อที่เราจะได้หลีกเลี่ยงได้ทัน

ก่อนที่จะเกิดอันตรายขึ้น

     ต่อไปนี้เป็นส่วนประกอบที่พบบ่อยในเครื่องสำอาง หรือผลิตภัณฑ์บำรุงผิวทั่วไป ซึ่งแต่ละส่วนประกอบมันก็จะมีหน้าที่ที่ต่างกันออกไป
ขึ้นกับวัตถุประสงค์ของเครื่องสำอางต้องการเน้นบำรุงที่จุดไหน มาดูส่วนประกอบกันเลยดีกว่าค่ะ
1. น้ำ (Aqua)
เวลาที่เราซื้อสกินแคร์ ให้ดูฉลากที่ข้างผลิตภัณฑ์ประเภทบำรุงผิวต่างๆ ส่วนใหญ่คุณจะพบคำว่า “ Aqua” เป็นชื่อส่วนประกอบลำดับต้นๆ เนื่องจาก
น้ำจะทำหน้าที่เป็นสารละลายของผลิตภัณฑ์ โดยในเครื่องสำอางแต่ละชนิดจะมีน้ำเป็นส่วนประกอบไม่เท่ากันทั้งนี้ขึ้นอยู่กับจุดประสงค์ เช่น ครีม
 จะมีส่วนที่เป็นน้ำและน้ำมันอยู่ด้วยกัน โลชั่นคือครีมที่มีน้ำมากกว่า ถ้าเป็นโทนเนอร์ก็จะมีน้ำเป็นส่วนประกอบมากที่สุด

2. Glycerin และสารกลุ่ม Glycol
     สารในกลุ่มนี้ทำหน้าที่เป็น Humectant หรือสารที่เพิ่มน้ำให้กับผิวโดยดึงน้ำมาจากสิ่งแวดล้อมและชั้นใต้ผิวหนัง ช่วยคืนความชุ่มชื้นให้กับผิว ตัวอย่างสารกลุ่ม Glycol ที่พบบ่อย คือ Propylene glycol, Butylene glycol เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีสารที่ทำหน้าที่เป็น Humectant อีกมากมายเช่น Hyaluronic Acid, NaPCA หรือเกลือโซเดียม PCA ทำหน้าที่เป็นสารกักเก็บความชุ่มชื้น เป็นต้น

3. Lanolin
     Lanolin เป็นสารสกัดที่ได้มาจากไขมันของแกะ มีคุณสมบัติเช่นเดียวกับ Mineral Oil, pafaffin, Squalene, Dimethicone และพวก Beeswax ทำหน้าที่เป็น Occlusive Agent และ Emollient agent ออกฤทธิ์เคลือบผิวไม่ให้มีการสูญเสียน้ำ ช่วยปกป้องไม่ให้ผิวสูญเสียความชุ่มชื้น ดังนั้นถ้าพบสารประกอบดังกล่าว แสดงว่าในผลิตภัณฑ์นั้น ต้องการเน้นการให้ความชุ่มชื้น

4. Petrolatum
     นิยมใช้เป็น Occlusive Agent และ Emollient agent เช่นเดียวกับ Lanolin ตัว Petrolatum นั้นทำมาจากน้ำมัน (Crude Oil) เป็นส่วนประกอบที่พบได้บ่อย เนื่องจากมีราคาถูก แต่มีข้อเสียคือ ทำให้เกิดสิวได้ง่าย และทำให้ใบหน้าแก่ก่อนวัย และที่สำคัญคือ ถ้าใช้วัตถุดิบไม่ดี ตัวมันอาจเกิดการปนเปื้อนสารที่เรียกว่า 1,4-dioxane ซึ่งเป็นสารที่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ได้


5. สารกลุ่ม Stearate
      สารกลุ่มนี้ทำหน้าที่เป็น Emulsifier ซึ่งเป็นตัวผสานความสัมพันธ์ของน้ำกับน้ำมันให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และซึมผ่านผิวได้ดียิ่งขึ้น เพราะปกติถ้าน้ำมันไปเจอกับน้ำ มันจะลอยตัวเกาะที่ผิวน้ำ แต่ Emulfier จะช่วยผสานน้ำกับน้ำมันให้เข้ากัน ให้สังเกตคำว่า “ Stearate” ลงท้าย ก็ใช่เลยค่ะ

 

6. Sodium Lauryl Sulfate (SLS) และ Sodium Laureth Sulfate (SLES)
      เราจะพบส่วนประกอบนี้ได้บ่อยในผลิตภัณฑ์ประเภทโฟมล้างหน้า สบู่ และแชมพู ทำหน้าที่เป็น Surfactant หรือสารที่สามารถชะล้างหรือเป็นตัวทำความสะอาดผิว สารพวกนี้จะมีความแข็งแกร่งในการทำความสะอาดมาก แต่ก็มีข้อเสียคือ เมื่อทำสามารถทำลายล้างสิ่งสกปรกได้มากเพียงใด มันก็ย่อมสามารถทำให้เกิดความระคายเคืองให้ผิวบางๆของเราได้เช่นกัน ดังนั้นเราควรหลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์ที่มีสารเหล่านี้เป็นส่วนผสมในปริมาณมากๆ เพราะจะทำให้ผิวแห้งและเกิดการระคายเคืองได้

 

7. Triethanolamine (TEA)
     TEA ทำหน้าที่เป็นตัวปรับค่าพีเอชในผลิตภัณฑ์ (pH Adjust Agent) มักพบในผลิตภัณฑ์กลุ่มเจลต่างๆ เช่นเจลล้างมือ เป็นต้น สารชนิดนี้อาจทำให้เกิดอาการแพ้ได้ (Allergic Reactions) ทำให้ผิวหรือผมแห้ง และเป็นผื่นแดงบริเวณผิวหนังและดวงตาได้

8. BHA (Butylated hydroxyanisole) และ BHT (Butylated hydroxytoluene)
     สารทั้งสองชนิดทำหน้าที่เป็น Antioxidants ที่สังเคราะห์ขึ้นมา ทำหน้าที่ในการยับยั้งและป้องกันการเสื่อมสลายของผลิตภัณฑ์เมื่อสัมผัสกับออกซิเจนในบรรยากาศ ส่วนใหญ่พบในผลิตภัณฑ์กันแดดไปจนถึงลิปสติก ในปัจจุบันนอกจาก BHA และ BHT ที่ทำหน้าที่เป็นสาร Antioxidants แล้ว ยังมีการใช้วิตามินอี (Tocopherol) ซึ่งเป็นสารธรรมชาติ และมีคุณสมบัติในการให้ความชุ่มชื้นอีกด้วย

9. Diethanolamine (DEA)
     เป็นสารที่ช่วยทำให้เปียก (Wetting Agent) พบในแชมพู ช่วยทำให้เกิดฟอง ส่วนในผลิตภัณฑ์บำรุงผิวต่างๆ จะทำให้ผลิตภัณฑ์ผสมเข้ากันได้ดีอย่างสม่ำเสมอ โดยตัวของมันเอง จะไม่มีอันตราย แต่เมื่อผสมกับสารประกอบอื่นในผลิตภัณฑ์ จะเกิดเป็นสารที่เรียกว่า Nitrosodiethanolamine (NDEA) ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งได้ ดังนั้นถ้าเห็นส่วนประกอบนี้ในสูตร ก็ให้ควรหลีกเลี่ยงนะคะ

10. Triclosan
     เป็นสารสำคัญที่มักพบในสบู่หรือโฟมล้างหน้าที่มีคุณสมบัติในการฆ่าเชื้อแบคทีเรีย (Antibacterial agent) นอกจากนี้อาจจะพบในยาสีฟัน ผลิตภัณฑ์รักษาสิว และผลิตภัณฑ์ระงับกลิ่นกาย เป็นต้น

 

ไตรโครซานคือสารเคมีชนิดหนึ่งที่มักใช้ในการผลิตสบู่ประเภทต้านเชื้อแบคทีเรีย และบางครั้งถูกใช้ผสมในยาสีฟัน น้ำยาบ้วนปาก เครื่องสำอาง น้ำยาซักผ้า กระดาษทิชชู่ เสื้อผ้า รวมทั้งผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพอีกมากมายหลายชนิด

อะไรคือผลกระทบของไตรโครซานต่อร่างกาย?

ไตรโครซานที่ถูกดูดซึมผ่านผิวหนังหรือเข้าไปทางปาก จะเข้าไปสะสมอยู่ในร่างกายเป็นระยะเวลายาวนาน โดยมีรายงานหลายชิ้นที่ชี้ว่า สารไตรโครซานอาจทำให้เกิดอาการแพ้ตามผิวหนัง ทำให้ต่อมฮอร์โมนทำงานผิดปกติ ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ ระบบการเจริญพันธุ์มีปัญหา ตลอดจนอาจก่อให้เกิดโรคมะเร็งได้

11. สารกลุ่ม Paraben
     ทำหน้าที่เป็น Preservative หรือสารกันบูด โดยทั่วไปในการผลิตเครื่องสำอางหรือผลิตภัณฑ์บำรุงผิวต่างๆ จะต้องมีความคงตัวทางจุลชีววิทยา (Microbiological stability) สามารถต้านทานการเจริญเติบโตของเชื้อจุลินทรีย์ได้ ตัวอย่างสารในกลุ่ม Paraben ที่นิยมใช้ได้แก่ Methylparaben, Propylparaben, Ethylparaben และ Butylparaben

     สารกันเสียที่ดีและน่าเชื่อถือได้นั้นจะต้องเป็นอันตรายกับผิวน้อยกว่าสิ่งแปลกปลอมที่ปนเปื้อนอยู่ในเครื่องสำอาง เพราะว่าสิ่งแปลกปลอมที่มีอนุภาคขนาดเล็กนั้นมักมีอันตรายกับผิวรอบดวงตา ริมฝีปาก และผิวหน้าโดยตรง และมีโอกาสเสี่ยงมากกว่าผลข้างเคียงของสารกันบูดที่จะเกิดกับผิวพรรณของเรา

 

12. Formaldehyde
     Formaldehyde หรือที่รู้จักกันในอีกชื่อหนึ่งก็คือ DMDM hydantoin diazolidinyl urea, Imidazalidol urea Sodium hydroxymethylglycinate, N-(Hydroxymethyl) glycine, Monosodium salt และ Quaternium-15 สารต่างๆที่กล่าวมาทั้งหมด เรามักพบได้ในผลิตภัณฑ์ประเภทความงามจำนวนมาก นิยมใช้เป็น Preservative หรือสารกันบูด แทนที่จะใช้ Paraben นอกจากนี้ มีการศึกษาพบว่า Formaldehyde เป็นสารก่อมะเร็ง (Carcinogen) โดยในช่วงกลางปี 2004 เป็นที่รู้กันว่าสาร Formaldehyde ทำให้เกิดการระคายเคืองบริเวณลำคอ ตา และจมูกได้

 

13. Hydroquinone
     เป็นสารที่ช่วยทำให้ผิวขาว (Skin lightening agent) ในอเมริกา อนุญาตให้ใช้สาร Hydroquinone ในความเข้มข้นที่ไม่เกิน 2% ในผลิตภัณฑ์บำรุงผิว สำหรับในประเทศแถบเอเชียและแอฟริกา มักพบบ่อยในครีมที่ช่วยทำให้ผิวขาว โดย Claim ว่าสามารถลดเลือนจุดด่างดำได้ สาเหตุเพราะ Hydroquinone ออกฤทธิ์ยับยั้งการสร้างเซลล์เม็ดสีเมลานินได้ แต่ข้อเสียคือ ตัวมันเองจะทำให้รังสี UVA และ UVB สามารถซึมผ่านผิวหนังได้มากขึ้น ซึ่งอาจเป็นสาเหตุให้มะเร็งผิวหนังได้

 

14. Phenylenediamine (PPD)
     คุณจะสามารถพบส่วนประกอบนี้ได้ในเครื่องสำอางที่มีสี ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์เปลี่ยนสีผมหรือแม้กระทั่งมาสคาร่า สารนี้เป็นสารที่สำคัญมาก ถ้าคุณเห็นส่วนประกอบนี้ในผลิตภัณฑ์ไหน จะต้องระวังเป็นพิเศษ เนื่องจากก่อให้เกิดอาการแพ้ได้ง่าย ต้องระวังอย่าให้เข้าตา สวมถุงมือที่เหมาะสมขณะใช้ และหากมีอาการผิดปกติควรหยุดใช้ทันที

 

15. Phthalates
     เป็นส่วนประกอบที่นิยมใช้ในน้ำยาทาเล็บ และพวกมาสคาร่าต่างๆ ทำหน้าที่เป็น plasticizer หรือสารที่เพิ่มความยืดหยุ่นให้กับผลิตภัณฑ์ สารในกลุ่มเดียวกับ Phthalate ได้แก่ DBP (di-n-butyl phthalate) และ DEP (Diethyl phthalate)

 

16. Toluene
     มักใช้เป็นตัวทำละลาย (Solvent) ในน้ำยาทาเล็บ มีการศึกษาพบว่า Toluene เป็นอันตรายต่อระบบประสาท เมื่อสูดหายใจเข้าใจ จะมีผลทำให้วิงเวียนศีรษะ และปวดหัวได้ อีกทั้งมีผลต่อระบบสืบพันธุ์ด้วย ดังนั้น เราจึงควรหลีกเลี่ยงการใช้น้ำยาทาเล็บที่มีส่วนประกอบของ Toluene จะดีกว่านะคะ

 

17. น้ำหอม (Fragrance)
     น้ำหอมเป็นสารแต่งกลิ่น ที่พบได้บ่อยในผลิตภัณฑ์บำรุงความงาม เช่น ครีมกันแดด, ผลิตภัณฑ์บำรุงผิว, แชมพู รวมไปถึงผลิตภัณฑ์สำหรับเด็กบางชนิด มีการวิจัยทางการแพทย์ ศึกษาเกี่ยวกับผลของการสัมผัสน้ำหอม ในความเข้มข้นสูง พบว่ามีผลต่อระบบประสาทส่วนกลาง ทำให้เกิดอาการ Hyper, การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมหรือทำให้เป็นโรคซึมเศร้าได้

 

18. Talc
     Talc เป็นส่วนประกอบสำคัญที่พบมากที่สุดในเครื่องสำอางประเภทแป้งตลับ, อายแชโดว์ชนิดฝุ่น หรือพวกบลัชออน เป็นต้น Talc ทำหน้าที่เป็น สารช่วยลื่น ทำให้รู้สึกลื่นเมื่อสัมผัส ไม่เป็นก้อน สำหรับข้อควรระวังในการใช้สารชนิดนี้ก็คือ ถ้าใช้แหล่งวัตถุดิบไม่ดี มันอาจเกิดการปนเปื้อนของสารชนิดหนึ่งที่เรียกว่า “ Asbestos ” ซึ่งเป็นสารที่อาจทำให้เกิดมะเร็งได้

 

19. Nanoparticles
     เป็นส่วนประกอบที่มีอนุภาคขนาดเล็กจิ๋ว ระดับนาโนเมตร เป็นส่วนประกอบที่เพิ่งมีการนำมาใช้ในระยะหลัง นั่นหมายถึงว่า มันอาจจะยังไม่ได้มีการทดสอบความปลอดภัยก็ได้ มักจะพบในผลิตภัณฑ์พวก Bronzer, อายแชโดว์ และอาจพบในโลชั่นบำรุงผิว หรือแม้กระทั่งพวกครีมกันแดดต่างๆด้วย ส่วนใหญ่ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ มักจะ Claim ว่า ทาแล้วไม่เหนียวเหนอะหนะ แห้งเร็ว และให้สัมผัสที่ดีมากยิ่งขึ้น

     ข้อควรระวังสำหรับการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีสาร Nanoparticles คือ มันอาจจะซึมผ่านเข้าสู่ผิวหนังได้ง่าย เนื่องจากอนุภาคของมันมีขนาดเล็กมาก ซึ่งในบางครั้งอาจทำให้เกิดอันตรายต่อเซลล์ผิวได้

 

20. เม็ดสี (Color)
     เป็นองค์ประกอบสำคัญอย่างหนึ่งในการผลิตเครื่องสำอาง สีที่ใช้ในเครื่องสำอางบางชนิดก็เพื่อให้เกิดความแตกต่างของผลิตภัณฑ์เท่านั้น แต่ในเครื่องสำอางบางชนิดสีเป็นองค์ประกอบที่สำคัญมาก เช่น แป้งผัดหน้าที่มีสีเนื้อโทนต่างๆ ลิปสติก อายแชโดว์ ดินสอเขียนคิ้ว หรือน้ำยาโกรกสีผม เป็นต้น

แสดงความคิดเห็น

รหัสรูปภาพ


สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม